วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ



        โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เขตพื้นที่ใหม่ ต. ขามเรียง  อ. กันทรวิชัย  จ. มหาสารคาม บนเนื้อที่ 1,300 ไร่ เดิมนั้นพื้นที่นี้เป็นป่าโคก  "โคกหนองไผ่"  อันอุดมไปด้วยป่าเต็งรัง  ก่อนนี้ที่นี่เป็นป่าชุมชน  เป็นซุปเปอรฺ์มาร์เก็ต เป็นร้านยา เป็นที่เลี้ยงวัวควาย ที่เปิดบริการ ฟรี ตลอดปี  ผู้คนในชุมชนอาศัยป่าโคกแห่งนี้หาอยู่หากิน อาทิ หาเห็ดโคน หน่อไม้ ผักติ้ว ผักกระเจียวในหน้าฝน หน้าแล้งมีอาหารโปรตีนชั้นสูงรสเลิศอย่างไข่มดแดง  เนื้อกะปอม (กิ้งก่า) แย้ ให้กิน หรือในหน้าหนาวในคลองที่น้ำเกือบจะแห้งขอดก็มี กุ้ง หอย กบ ปลาที่สะสมไขมันไว้ให้กิน  นอกจากอาหารป่าเหล่านี้แล้ว ยังมีสมุนไพรชั้นเลิศหลากหลายที่ชาวบ้านมาเก็บไปรักษาโรค แม้กระทั่งเครื่องมือการเกษตรอย่างเช่น ด้ามไถ คราด ก็ยังต้องอาศัยป่าโคกแห่งนี้
    แต่เมื่อมหาวิทยาลัยเข้ามาตั้ง ประชาชนที่นี่ก็ไม่ได้ใช้ป่านี้ดำรงชีพเช่นดังก่อน จากป่าโคกที่เคยอุดมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ก็กลายเป็นตึกเรียน เป็นหอพัก รวมถึงเป็นอาคารพาณิชย์และหอพักเอกชน แหล่งอาหารรวมทั้งระบบนิเวศน์ที่เคยสมบูรณ์ก็ถูกทำลายลง  ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีโครงการที่จะเก็บรักษาพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ให้คงสภาพเดิมและจัดระบบนิเวศน์ไว้ให้สมบูรร์ดังเดิม  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ  ผ่านวัฒนธรรมอีสานเชื่อมโยงกับพรรณไม้ ผ่านคำบอกเล่า "ตำนานป่าโคกหนองไผ่" เป็นแหล่งศึกษาดูงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปให้สามารถเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิต 
ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้กับคนในท้องถิ่น โดยเรียกชื่อพื้นที่ดังกล่าวว่า ศูนย์ศึกษาธรรมชาติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 เมื่อเดินผ่านป้ายศูนย์ศึกษาธรรมชาติเข้าไปเราจะพบกับจุดสังคมไผ่และหญ้าซึ่งมีต้นไผ่ป่าขึ้นอยู่มากมาย รวมถุงหญ้าไผ่ด้วย  เมื่อเดินตามทางอิฐตัวหนอนไปเรื่อยๆ เราจะพบกับสังคมไม้ต้นเด่นที่รายล้อมอยู่ทั้งสองทางเดิน อันได้แก่ ต้นซาด ต้นสะแบง เป็นต้น  เดินขึ้นไปตามทางคอนกรีตที่ยกสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะพบกับศาลาจุดชมวิวในชั้นจุดศึกษาชั้นเรือนยอด ที่สามารถชมต้นไม้ในระดับสูงได้ทั้งป่า รวมถึงสามารถมองวิวทิวทัศน์รอบๆ ป่าโคกดังกล่าวได้ด้วย  จากนั้นเราเดินเลาะลงมาตามาทางเิดิมก็จะพบจุดริมน้ำ ซึ่งมีสะพานเดินข้ามลำห้วยให้ศึกษาสิ่งแวดล้อมริมห้วย เมื่อเดินเลาะริมห้วยมา  เราก็จะพบจุดสังคมไม้ล้มลุก เช่น ดอกดินแดง เป็นต้น ต่อจากนั้นก็จะมีจุดปฏิทินธรรมชาติ จุดชมนกชมไม้ และบริเวณไม้หอมพรรณไม้อีสานกว่า 20 ชนิด
 จากจุดเรียนรู้ธรรมชาติข้างต้น เราสามารถศึกษาทรัพยากรชีวภาพประเภทต้นไม้หายากของอีสานที่อุดมไปด้วยประโยชน์ด้านอาหาร สมุนไพรรักษาโรค รวมทั้งการนำไปทำเครื่องใช้ไม้สอยได้ ดังนี้
หมากก้นคร

         หมากก้นครก  มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น  กล้วยเต่า  ไข่เต่า ตับเต่า ตับเต่าน้อย หรือ หำหมา  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthia debillis Finet & Gagnep. อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE   เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 20-90 ซม. จะออกดอกออกผลในเดือน กรกฎาคม-ตุลาคม  ผลสุกสามารถรับประทานได้ มีรสหวาน

กระเจียวขาว

      กระเจียวขาว  มีชื่อเรียกอื่นคือ  กระเจียวป่า  เทพรำลึก บัวขาว  ชื่อวิทยาศาสตร์คือ  Curcuma  gracillima  Gagnep. วงศ์ ZINGIBERACEAE  เป็นไม้ล้มลุก  สูงประมาณ 30-50 ซม. ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า  ลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบโอบซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม ระยะเวลาออกดอก คือช่วงเดือน พฤษภาคม-กันยายน 
    กระเจียวขาวรับประทานไม่ได้ ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ  ช่อดอกทนทาน สามารถปักแจกันได้หลายวัน ส่วนดอกกระเจียวขาวที่สามารถรับประทานได้มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ  Curcuma singularis Gagnep.   
   กระเจียวขาวมีระยะพักตัวในฤดูแล้ง โดยลำต้นเหนือดินจะเหี่ยวแห้งและยุบตัวลง เหลือเฉพาะเหง้าพักตัวอยู่ในดิน เมื่อถึงฤดูฝนลำต้นเหนือดินและช่อดอกจะเกิดขึ้นใหม่ ช่อดอกกระเจียวขาวจะเจริญเติบโตโผล่ดินพร้อมกับส่วนใบ


กระเจียวแดง


       กระเจียวแดง มีชื่อเรียกอืน คือ ว่านมหาเมฆ ขมิ้นดำ ดอกดิน กระชายดง Pink and Blue Ginger , Blue turmeric ชื่อวิทยาศาตร์ คือ ZINGIBERACEAE  เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 40-60 ซม. มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเหนือดินอาจเป็นลำต้นเดียว หรือ รวมกันเป็นกอ  ระยะเวลาในการออกดอก คือ เดือนมีนาคม-สิงหาคม 
   ช่อดอกอ่อนนิยมรับประทานเป็นผักลวก มีสรรพคุณ ช่วยขับลม  เหง้า มีรสเผ็ดร้อน ใช้ต้มน้ำดื่ม เป็นยาขับลม
   กระเจียวแดงมีระยะพักตัวในฤดูแล้ง โดยลำต้นเหนือดินจะเหี่ยวแห้งและยุบตัวลง  เหลือเฉพาะเหง้าพักตัวอยู่ใต้ดิน  เมื่อถึงฤดูฝนลำต้นเหนือดินและช่อดอกจะเกิดขึ้นใหม่  ช่อดอกกระเจียวแดงจะเจริญเติบโตโผล่พ้นดินก่อนส่วนใบ


กระโดน


      กระโดน มีชื่อเรียกอื่น คือ จิก  ปุยขาว  Tummy-wood ,Patana oak 
ชื่อวิทยาศาสตร์  คือ Careya sphaerica Roxb. วงศ์ LECYTHIDACEAE
เป็นต้นไม้ผลัดใบ สูงได้ถึง 10 เมตร ออกดอกออกผลในเดือน มกราคม-เมษายน
      ยอดและใบอ่อน สามารถรับประทานเป็นผักสด มีรสฝาด  
      ผล เป็นอาหารสัตว์
     เปลือก  ต้มอาบแก้ผดผื่น  รักษาน้ำกัดเท้า  ต้มใช้ย้อมแห หรือต้มเคี่ยวรักษาควายที่เป็นโรคเท้าเปื่อย 
     แก่นไม้  ต้มน้ำดื่ม สำหรับสตรีที่อยู่ไฟ
ก้านของ
     ก้านของ มีชื่ออื่น คือ ปีบ กาสะลอง คันของ Indian cork tree, Indian cork, Cork tree  ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis L.f.  วงศ์ BIGNONIACEAE

     เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 5-20 เมตร ออกดอกออกผลในเดือนตุลาคม-มีนาคม

     เป็นต้นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นไม้มงคลประจำจังหวัดพิษณุโลก และเป็นดอกไม้ประจำคณะพยาบาลศาสตร์  ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด  ดอกเป็นยาอายุวัฒนะ  ใบ  เผาไฟเพื่อสูดดมควัน  มีสรรพคุณเพื่อขยายหลอดลม ในตำรายาอีสานใช้รากต้นก้านของเข้ายารักษาโรคกระเพาะ
กูดย่อง


        กูดย่อง  มีชื่ออื่น คือ หมอยแม่ม่าย  หมอยสาวแก่  หญ้ายายเภา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lygodium flexuosum (L.) Sw. วงศ์ LYGODIACEAE เป็นพืชตระกูลเฟิร์น
      ใบอ่อนรับประทานเป็นผักสด  เถามีความเหนียวใช้แทนเชือกได้  และนำมาใช้ในงานจักสานทั่วไป
โกทา

      โกทา  มีชื่ออื่นๆ คือ คนทา  สีฟันคนทา จี้  จี้หนาม  ขี้ตำตา  
      ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Harrisonia perforata (Blanco) Merr. วงศ์ SIMAROUBACEAE เป็นไม้พุ่มเลื้อย สูง 4-8 เมตร ระยะเวลาในการออกดอกผลคือ เดือนมีนาคม-พฤษภาคม
      กิ่งหรือราก  นำมาทุบให้ละเอียดเป็นฝอยคล้ายพู่กันเพื่อใช้แปรงฟัน  ทำให้ฟันและเหงือกแข็งแรง  ชาวอีสานมักนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์
      ลำต้นนำมาทำเป็นไม้ก้านห้า ซึ่งเป็นไม้สำหรับร้อยไพหญ้า  เพราะมีลำต้นตรง แข็งแรง มอดไม่เจาะ
ขามป้อม
     ขามป้อม  มีชื่ออื่น คือ มะขามป้อม  กำทวด  ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ  Phyllanthus emblica L. วงศ์ EUPHORBIACEAE ระยะเวลาในการออกดอกผลคือ เดือนมากราคม-พฤษภาคม
     ผล รสเปรี้ยวอมฝาด มีวิตามินซีสูง  สรรพคุณทำให้ชุ่มคอ แก้คอแห้ง กระหายน้ำ  ช่วยละลายเสมหะ บำรุงเสียง
     ลำต้น ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานใช้ไม้ขามป้อมทำฟืนสำหรับอยู่กรรมผู้หญิงหลังคลอด (อยู่ไฟ) เพราะให้ความร้อนดี ไม่แตก ไม่มีควัน และไม่มีกลิ่น
ขี้กาแดง
           ขี้กาแดง มีชื่อเรียกอื่น คือ มะกาดิน  แตงโมป่า  ขี้กาขาว  มีชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnopetalum scabrum (Lour.) W.J วงศ์ CUCURBITACEAE เป็นไม้ล้มลุก  ออกดอกออกผลตลอดปี  ประโยชน์คือ เป็นไม้คลุมดิน ป้องกันฝนชะล้างหน้าดิน


ขี้อ้น
        ขี้อ้น มีชื่ออื่น คือ ปอขี้ไก่  ปอหำหนู  ปอขี้ตุ่น  ไม้หมัด  ปอเต่าไห้ หญ้าหางอ้น    ข้าวกี่น้อย  ยำแย่
        ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ  Helicteres angustifolia L. วงศ์ STERCULIACEAE  เป้นไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร
        ระยะเวลาออกดอกผล เดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน
        รากนำมาต้มเคี่ยว แก้ปวดฟัน


ขี้เหล็กสาร
        ขี้เหล็กสา มีชื่อเรียกอื่น คือ แสมสาร ขี้เหล็กป่า  ขี้เหล็กแพะ ขี้เหล็กโคก  ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna garretiana (Craib) Irwin & Barneby 
วงศ์ LEGUMINOSEA - CAESALPINIODEAE เป็นไม้ขนาดสูง ประมาร 5-20 เมตร  ออกดอกผล เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 
     ดอกและใบอ่อนรับประทานได้  แต่ไม่ค่อยนิยมเหมือนขี้เหล็กบ้าน


งิ้วแดง

        งิ้วแดง มีชื่อเรียกอื่น คือ งิ้วป่า งิ้วบ้าน Red silk-cotton tree, Kapok, Silk cotton ชื่อวิทยาศาสตร์  Bombox ceiba L. วงศ์  BOMBACACEAE มีต้นสูง 10-25 เมตร  ระยะเวลาในการออกดอกผล เดือนมกราคม-พฤษภาคม  เปลือก แก้ท้องเสีย  แก้ปิด  ราก ใช้ขับปัสสาวะ

จิก
        จิก มีชื่อเรียกอื่น คือ เต็ง แงะ ชันตก เต็งขาว เน่าใน  Siamense sal,Bermese sal, Thitya  ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea obtusa Wall. ex Blume
        วงศ์ DIPTEROCARPACEAE เป็นไม้ต้นสุงขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร
เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความทนทานจึงใช้ในการก่อสร้าง ทำเป็นไม้โครงหลังคา ไม้ค้ำยัน และเฟอร์นิเจอร์
ขี้ซี หรือชันยางที่เกิดจากการแตกของเปลือก นิยมนำมาทำเป็นเชื้อเพลิง เรียก ขี้ไต้ ความเหนียวทนของชันยางนำมาทำเป็นยาแนวเรือ หรือถังน้ำไม้ไผ่
ไม้จิกยังใช้เป้นไม้ในการประกอบพิธีการจัดประชุมเพลิงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน เพราะเมื่อไม้จิกเผาไฟแล้วจะได้ถ่านสีขาว

*** จิก หรือ เต็ง เป็นไม้ดัชนีสำคัญ (keystone species) 1 ใน 5 ชนิด ได้แก่ เต็ง  รัง(ฮัง)  ยางเหียง (ซาด)  ยางกราด (สะแบง) และพลวง (กุง) ของป่าเต็งรัง หรือ ป่าโคก ซึ่งเป็นป่าไม้ที่พบมากกว่า 80 %  ในพื้นที่ภาคอีสาน พืชดัชนีทั้ง 5 ชนิดนี้ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าไม้และเศรษฐกิจ โดยระบบรากของไม้กลุ่มนี้มีการอาศัยอยู่แบบพึ่งพากับเชื้อราเห็ด เรียกว่า ไมคอร์ไรซาร์ จึงเป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรที่สำคัญในป่าเต็งรัง ***

ซาด
       ซาด มีชื่อเรียกอื่นๆ คือ เหียง คราด ซาด สะแบง ตะแบง
       ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Dipterocarpus obtusifolius Dyer
       วงศ์  DIPTEROCARPACEAE  เป็นต้นไม้ที่มีความสูง 8-25 เมตร
เป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้ในการก่อสร้าง ทำเสาบ้าน  ใบ ใช้เป็นใบตองห่อสิ่งของ  เปลือก ต้มดื่มแก้ท้องเสีย
                     
 ***  ซาด เป็นไม้ดัชนีสำคัญ (keystone species) 1 ใน 5 ชนิด ได้แก่ เต็ง  รัง(ฮัง)  ยางเหียง (ซาด)  ยางกราด (สะแบง) และพลวง (กุง) ของป่าเต็งรัง หรือ ป่าโคก ซึ่งเป็นป่าไม้ที่พบมากกว่า 80 %  ในพื้นที่ภาคอีสาน พืชดัชนีทั้ง 5 ชนิดนี้ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าไม้และเศรษฐกิจ โดยระบบรากของไม้กลุ่มนี้มีการอาศัยอยู่แบบพึ่งพากับเชื้อราเห็ด เรียกว่า ไมคอร์ไรซาร์ จึงเป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรที่สำคัญในป่าเต็งรัง ***



ดอกดินแดง
         ดอกดินแดง  มีชื่อเรียกอื่น เช่น ดอกดิน  ข้าวก่ำนกยูง ซอซวย สบแล้ง หญ้าดอกขอ 
ปากจะเข้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aeginetia indica Roxb. .วงศ์  OROBANCHACEAE  เป็นพืชล้มลุก เป็นพืชเบียน (parasitic plant) ตามรากของพืชอื่น โดยเฉพาะรากหญ้าและไผ่  ออกดอกเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน
ประโยชน์ ใช้เป็นยาสมุนไพร  เป็นยาชงรักษาโรคเบาหวาน และยาต้มเพื่อแก้อาการบวมตามผิวหนัง  ใช้เป็นสีผสมอาหาร ซึ่งจะให้สีม่วง

***ในประเทศไทยพบพืชสกุลนี้ 2 ชนิด คือ ดอกดิน และเอื้องดิน (Aeginetic pedunculata Wall)  วัฏจักรชีวิตของดอกดินทั้ง 2 ชนิดคล้ายกัน คือ เริ่มจากเมล็ดงอกและแทงรากเบียนเข้าไปในท่อลำเลียงของรากพืชที่เป็นผู้อาศัย  ต่อมาพัฒนาเป็นปุ่ม (tubercle) จากนั้นจึงเจริญเป็นดอกชูขึ้นเหนือดิน  เมื่อผลแก่จะแตกออก  ปล่อยเมล็ดจำนวนมากลงสู่ดิน  นอกจากนี้ ลักษณะของดอกดินแดงมีความผันแปรมาก ทั้งรูปร่างดอก ขนาด และสี จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติม  เพื่อใช้ในการจำแนกในระดับพันธุ์ (variety) ***




ติ้วส้ม
       ติ้วส้ม มีชื่อเรียกอื่น คือ ติ้วขาว  ติ้ว แต้วหอม  
      ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum (Jack) Dyer.ssp. formosum วงศ์ HYPERICACEAE (GUTTIFERAE) เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง 25 เมตร  ระยะเวลาในการออกดอกผล เดือน มีนาคม-มิถุนายน
ยอดอ่อน ดอกอ่อน และใบอ่อน เป็นอาหารพื้นเมืองยอดนิยม ใบมีรสเปรี้ยว นิยมประทานเป็นผักสด ผักเคียงอาหารอีสาน หรือทำซุบอีสาน หรือปรุงอาหารประเภทต้มเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว
รากและใบ ต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง
เปลือกและใบ  ตำผสมกับน้ำมะพร้าว  ทารักษาโรคผิวหนัง นำ้ยาง  ช่วยรักษาแผลจากส้นเท้าแตก



ตูบหมูบ
        ตูบหมูบ มีชื่อเรียกอื่นว่า เปราะป่า เปราะเถื่อน      เสน่ห์จันทร์หอม                                            
       ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia marginata Roscoe วงศ์ ZINGIBERACEAE

   เป็นไม้ล้มลุก หลายฤดู  ระยะเวลาออกดอก มิถุนายน-สิงหาคม

       เหง้า เป็นยาขับลม  แก้ท้องเฟ้อ ใบอ่อนใช้ปรุงอาหาร เช่น ใช้หมกแย้



ต้องแล่ง
       ต้องแล่ง มีชื่อเรียกอื่น คือ น้ำเต้าแล้ง  น้ำเต้าน้อย ท่องแล่ง นมน้อย น้ำน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep. วงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูง 30-90 ซม.   ออกดอกออกผล เดือนพฤษภาคม -กันยายน
ผลสุกมีรสหวาน รับประทานได้ รากต้มน้ำดื่มแก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง  บำรุงน้ำนม  ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ วัว ควาย



เครืออีโก่ย

      เครืออีโก่ย มีชื่อเรียกอื่น คือ องุ่นป่า  เถาเปรี้ยว กุ่ย  กี่โก่ย  จี่โก่ย  เถาวัลย์ขน ส้มกุ้ง ส้มกุ่ย ส้มออบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Ampelocissus martini Planch. วงศ์ VITACEAE  เป็นไม้เลื้อยพันต้นไม้อื่น

ระยะออกดอกผล  เดือนกันยายน - พฤศจิกายน ผลและยอดรับประทานได้ นำมาตำส้มตำใส่มดแดง  เครือนำมาถักเป็นเชือก เพื่อใช้เล่นกระโดดเชือก  ราก ต้มดื่มแก้ท้องเสีย

     ในความเป็นจริงแล้วต้นไม้ในศูนย์ศึกษาธรรมชาติยังมีอีกมายมาย ซึ่งล้วนเป็นต้นไม้
หายากและสำคัญต่อเศรษฐกิจ  เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่รอให้นักเรียน และผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ วิจัย  เพื่อดำรงไว้ เผยแพร่และสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดกับชุมชนอีสานและขยายสู่ระดับประเทศและระดับโลกต่อไป 

ขอขอบคุณ
      สถาบันวิจัยวลัยรุขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.(2554).  พรรณไม้ในศูนย์ศึกษาธรรมชาติ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  มหาสารคาม : ศิริภัณฑ์ ออฟเซ็ท.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น